เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย/อุดมการณ์
 
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฎ" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2535 ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาว ราชภัฏเป็นล้นพ้นด้วยทรงเมตตาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็น "สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ"โดยเฉพาะนับเป็นมหาสิริมงคลอันควรที่ชาวราชภัฏทั้งมวลจักได้ภาคภูมิใจและพร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณนี้อย่างสุดความสามารถ
       ในการปฏิบัติหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณชาวราชภัฏจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ร่วมกันเพราะ อุดมการณ์เป็นเครื่องกำกับทิศทาง และแนวทางการดำเนินงานมิให้คลอนแคลนหรือเลื่อนลอยไปตามกระแสของเหตุการณ์ ในเมื่อคำว่า "ราชภัฏ"แปลว่า "คนของพระราชา " และ" สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ" ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ "พระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระราชา" ดังนั้น อุดมการณ์ของชาวราชภัฏ ก็ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอุดมการณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวด้วย สาระสำคัญของอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ สามารถพิจารณาได้จากรูปต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระราชลัญจกรประจำพระองค์หนึ่งนั่นเอง กล่าวคือ

       ประการแรก รูปที่โดดเด่นที่สุดในพระราชลัญจักร ประจำพระองค์คือ รูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้นที่ตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศพระที่นั่งองค์นี้สร้างจากไม้อุทุมพรหรือไม้มะเดื่อ ปัจจุบันประดิษฐานในพระที่ นั่งไพศาลทักษิณด้านบนทิศตะวันออก ในวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งองค์นี้ เพื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่ผู้แทนของประชาชนจากทิศ ทั้งแปดทูลเกล้าฯ ถวายซึ่งแปลความหมายได้ว่าประชาชนเป็นผู้กราบบังคมทูล ถวายแผ่นดินให้ทรงครองและพร้อมใจกันอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยตรงตามคติความเชื่อของการสถาปนา พระมหากษัตริย์โดยยินยอมพร้อมใจของปวงชนที่เรียกว่า "อเนกนิกรสโมสรสมมุติ" นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงรับแผ่นดินและน้ำอภิเษกจากประชาชนแทนการรับจากราชบัณฑิตดังในรัชกาลก่อนพระที่นั่งอัฐทิศหรือพระแท่นแปดทิศจึงเป็นสัญลักษณ์แทนแผ่นดินส่วน เศวตฉัตรหรือฉัตรขาวเป็นเครื่องหมายของ "ธรรมราชา" คือพระราชาผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาเช่น มหาวงค์เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า "เศวตฉัตรธำรง" ซึ่งแปลว่าผู้ทรงฉัตรขาวและเรียกภิกษุว่า กาฬฉัตรธำรง" คือ ผู้ถือร่มดำ การที่พระบรมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สูงแห่งมหาชนสยาม" นั้นทรงยืนยัน ความเป็นธรรมราชาของพระองค์ให้เป็นที่ปราฏในแผ่นดินโดยแท้ จนถึงวันนี้ก็ทรงปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการ นี้โดยตลอดสำหรับชาวราชภัฏรูปของฉัตรขาวเจ็ดชั้นที่ตั้งบนแท่นแปดทิศนั้นย่อมต้องแปลความว่าชาวราชภัฏคือผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตั้งอยู่บนความถูกต้องชอบธรรมกับต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ความถูกต้องชอบธรรมเพื่อความเจริญ
ก้าวหน้าของท้องถิ่น

       ประการที่สอง ใต้เศวตฉัตรลงมาเป็นรูปวงจักรกลางจักรเป็นอุณาโลม หรือเลขเก้ารูป วงจักรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวราชวงศ์จักรีคำว่า "จักรี" มีความหมายได้เป็นสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ราชวงศ์นี้สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งที่ "เจ้าพระยาจักรี" ก่อนจะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่า ราชวงศ์นี้สืบเนื่องมาจากพระนารายณ์ ซึ่งพระนามอีกอย่างหนึ่ง "พระจักรี"แปลว่า ผู้ทรงจักร ตามคติความเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินคือ พระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญดังมีการถวายพระนามแด่พระเจ้าแผ่นดินอีกอย่างหนึ่ง ว่า "พระรา" หรือ "พระรามาธิบดี" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นพระรามที่เก้า
      สำหรับรูปอุณาโลม ที่มีลักษณะเหมือนเลขเก้านั้น หมายถึง พระเนตรดวงที่สามของพระอิศวรเป็นพระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อมีรูปนี้อยู่กลาง วงจักร จึงแปลความหมายได้เป็นสองอย่าง อย่างแรกแปลความหมายได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์จักรี อย่างที่สองหากดูรูปอุณาโลม เป็นเลขเก้าก็แปลความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินลำดับที่เก้า แห่งราชวงศ์จักรีวงศ์
       พึงทราบว่าภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสถานะเสมอด้วยเทวราชาวงจักรและอุณาโลมก็คือเครื่องหมายแห่งเทวราชานั่นเองจักรเป็นเทพอาวุธซึ่งเป็นทิพยศาสตราอันทรงฤทธานุภาพของพระนารายณ์ส่วนอุณาโลมหรือพระเนตรดวงที่สามของพระอิศวรนั้นมีมหิทธานุภาพยิ่งหากทรงลืมพระเนตรดวงที่สามนี้เมื่อใดจักวาลจักไหม้เป็นจุลทันทีแต่ทั้งวงจักรและอุณาโลมล้วนอยู่ใต้เศวตฉัตรซึ่งแปลความหมายโดยรวมได้ว่าแม้ว่าพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมเดชานุภาพก็ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นโดยคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าในแผ่นดินเป็นสำคัญ
       สำหรับชาวราชภัฏ รูปวงจักรคือสัญลักษณ์ของศาสตรา หรือศาสตร์อันทรงอานุภาพหมายความว่าสถาบันราชภัฏต้องเป็นแหล่ง รวมวิทยาการของท้องถิ่น ส่วนรูปอุณาโลมคือ สัญลักษณ์ของปัญญาอันยิ่ง เพราะแสงสว่างแห่งปัญญานั้นไม่มีแสงสว่างใด เสมอเหมือนหมายความว่าสถาบันราชภัฏ ต้องเป็นผู้นำทางปัญญาของชุมชน

       ประการที่สาม รูปรัศมีสีทองเปล่งประกายออกไปในทุกทิศทางรวมทั้งสิ้น 32 แฉกนั้นหมายถึงพระบรมเดชานุภาพ32 ประการ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แผ่กระจายออกไป เพื่อยังความร่มเย็นเป็นสุขให้บังเกิดขึ้นกับมวลพสกนิกร ในทุกสารทิศทั้งนี้เป็นการสืบสานคติความเชื่อของคนไทยแต่โบราณมาว่าพระเจ้าแผ่นดิน คือผู้ทรงบุญญาธิการสมบูรณ์ด้วย พระคุณลักษณะและพระคุณธรรมของมหาบุรุษทั้ง 32 ประการ โดยที่ทุกประการนั้น ล้วนบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนทั้งสิ้น สำหรับชาวราชภัฏ รูปรัศมีทอง 32 แฉก คือ สัญลักษณ์ของพลังแห่งความจริง ความดี ความงามที่เปล่งประกายออกไป จากสถาบันราชภัฏเพื่อความเจริญก้าวหน้าอันมั่นคงและยั่งยืนให้บังเกิดขึ้นกับท้องถิ่น
       ดังพิจารณามาตามลำดับนั้น จะเห็นได้ว่าความหมายของรูปต่างๆที่ปรากฎอยู่ในสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอันวิเศษ สมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมความหมายดังกล่าวมาเป็นอุดมการณ์ของสถาบันราชภัฎ ซึ่งพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้เป็น "สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" หากชาวราชภัฏได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุสู่อุดมการณ์นี้สถาบันราชภัฏก็จะเป็นความหวังและเป็นที่พึ่ง ทางการศึกษาของท้องถิ่น สามารถทำหน้าที่ เป็น "มหาวิชชาลัย" คือเป็น "ที่อาศัยแห่งความรู้อันยิ่งใหญ่"และเป็น "โพธิยาลัย" คือเป็น "ที่อยู่แห่งแสงสว่าง" พร้อมที่จะเรียนรู้เบื้องพระยุคลบาทศึกษาสืบสาน และสร้างสรรค์งานตามแนว พระราชดำริให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาต่อปวงชนชาวไทย ยังผลให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเกิดความเจริญก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืนให้สมกับที่ราชภัฏเป็น “"คนของพระราชาข้าของแผ่นดิน" อย่างแท้จริง
       ควรจะได้บันทึกไว้ให้เป็นที่ปรากฎ ณ ที่นี้ว่า พระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งงดงาม ทั้งรูปแบบ และลึกซึ้งทั้งความหมายนั้น คณะกรรมการที่คิดแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประกอบด้วย พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์กรมพระยาชัยนาทเนรนทร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากรและพระยาเทวาธิราช ป.มาลากุล สมุหพระราชพิธี ส่วนผู้ที่แกะพระราชลัญจกรองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คือหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกคนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบหกรอบ
นักษัตรในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 นับเป็นมหามงคลสมัยที่ชาวราชภัฏทั้งมวล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้ พระราชลัญจกร แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ "รู้ รัก สามัคคี" ในอันที่จะพัฒนาสถาบันราชภัฏ ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ทั้งนื้เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้
 
         

Copyright @ 2013 Pibulsongkram Rajabhat University | Designed by Webmaster PSRU